น้ำแร่

น้ำแร่ เป็นน้ำจากธรรมชาติที่มีอยู่ใต้ดินเท่านั้น ไม่สามารถเติมแต่งหรือผสมขึ้นมาได้ น้ำแร่จะมีแร่ธาตุต่างๆ เป็นส่วนประกอบมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับชั้นหินที่น้ำไหลผ่าน ดังนั้นน้ำแร่ธรรมชาติแต่ละแหล่งจะมีแร่ธาตุทีแตกต่างกัน ซึ่งแร่ธาตุที่พบเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ แคลเซียม แมกนีเซียม โซเดียม โพแทสเซียม ไบคาร์บอเนต คลอไรด์ เหล็ก และซัลเฟต ส่วนแร่ธาตุอื่นๆ ที่พบในปริมาณน้อยได้แก่ ฟลูออไรด์ ซีลีเนียม แมงกานีส เป็นต้น
น้ำแร่ที่สามารถนำมาบริโภคได้นั้น ต้องมีคุณภาพเหมาะสมที่จะบริโภคได้อย่างปลอดภัยตามมาตราฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม น้ำแร่ธรรมชาติ โดยน้ำแร่ที่ดีต้องมีคุณลักษณะใส ไม่มีตะกอน ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น มีแร่ธาตุในปริมาณที่ไม่เกินเกณฑ์มาตราฐาน ไม่พบเชื้อจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคและมีปริมาณสารปนเปื้อนอัน ได้แก่ กัมมันตภาพรังสีเช่น รังสีแอลฟ่า เบต้า และสารพิษพวกไซยาไนด์ ไม่เกินเกณฑ์มาตราฐาน
แร่ธาตุที่อยู่ในน้ำแร่
ธาตุฟลูออไรด์
ฟลูออไรด์ช่วยป้องกันฟันผุ และทำให้กระดูกแข็งแรงทนทานต่อความเป็นกรด โดยฟลูออไรด์มักจะถูกเติมลงไปในน้ำประปา น้ำดื่ม ยาสีฟัน ในปริมาณที่เหมาะสม โดยฟลูออไรด์ในน้ำประปากำหนดให้มีได้ไม่เกิน 0.7 มิลลิกรัมต่อลิตร โดยปกติแล้วฟลูออไรด์พบได้ทั่วไปในธรรมชาติ ทั้งในดิน หิน น้ำ โดยเฉพาะในน้ำบาดาลจะพบปริมาณของฟลูออไรด์สูงกว่าแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งฟลูออไรด์ ไม่มีสี กลิ่น รส ไม่สามารถกำจัดได้ด้วยการต้มน้ำให้เดือด การป้องกันการได้รับปริมาณฟลูออไรด์สูงเกินไปทำได้โดยการรับประทานแคลเซียมจากอาหารให้เพียงพอ ฟลูออไรด์ที่มากเกินไปจะจับกับแคลเซียม ทำให้ไม่เกิดผลกระทบต่อร่างกายผู้บริโภค โดยตามมาตรฐาน มอก. 2208-2547 กำหนดให้มีค่าไม่เกิน 2 มก.ต่อลิตร
ธาตุเหล็ก
ธาตุเหล็กสามารถพบได้ที่พื้นผิวของน้ำและน้ำบาดาลในรูปของสารละลายและตะกอน ซึ่งหากมีปริมาณเหล็กปนเปื้อนมากกว่า 0.3 มิลลิกรัมต่อลิตร จะทำให้น้ำมีสีเหลืองจนถึงแดง ขุ่น เกิดตะกอนสีน้ำตาลลอยอยู่ที่ผิวน้ำ เกิดกลิ่นเฉพาะตัวของสนิมเหล็ก โดยทั่วไปเหล็กที่ละลายอยู่ในน้ำบาดาลมีด้วยกัน 2 รูปได้แก่ Fe2+ หรือ เฟอร์รัส และ Fe3+ หรือ เฟอร์ริค โดยในน้ำบาดาลเหล็กจะอยู่ในรูปของเฟอร์รัสคาร์บอเนตซึ่งสามารถละลายน้ำได้ และเมื่อนำขึ้นมาจากใต้ดินถูกอากาศจะเปลี่ยนเป็นรูปของเฟอร์ริคออกไซด์ ซึ่งไม่ละลายน้ำและจะตกเป็นตะกอน หากเราตั้งน้ำทิ้งไว้ในตอนแรกจะเห็นว่าน้ำใส เมื่อผ่านไปสักพักจะเห็นว่าน้ำมีสีขุ่น เหลืองจนถึงแดงและมีตะกอนของสนิมเหล็กเกิดขึ้นนั่นเอง โดยมาตรฐานน้ำดื่มกำหนดให้มีธาตุเหล็กได้ไม่เกิน 0.3 มิลลิกรัมต่อลิตร และปริมาณเหล็กในน้ำใช้หรือน้ำบาดาล ไม่เกิน 0.5 มิลลิกรัมต่อลิตร โดยธาตุเหล็กมีประโยชน์ต่อระบบเลือด ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้ผิวพรรณผ่องใส
สำหรับประโยชน์ของธาตุอื่นๆ เมื่อได้รับในปริมาณที่เหมาะสม
- แคลเซียม ช่วยเสริมสร้างและพัฒนาการกระดูกและฟัน
- โซเดียม รักษาสมดุลของเซลล์
- แมกนีเซียม ควบคุมความดันโลหิต
- โพแทสเซียม ช่วยในการทำงานของเซลล์ประสาท
- สังกะสี ช่วยบำรุงผมและผิว
- ซัลเฟต ช่วยในการดูดซึม
ประโยชน์ของน้ำแร่ที่ดีต่อสุขภาพ
- ช่วยให้กระดูกแข็งแรง ปริมาณแคลเซียมที่เจืออยู่ในน้ำแร่นั้น เมื่อได้รับเข้าไปในปริมาณที่เหมาะสมจะมีส่วนช่วยให้มวลกระดูกหนาแน่นขึ้น ป้องกันพวกโรคกระดูกพรุนได้
- ลดความดัน เนื่องจากในน้ำแร่นั้นมีแร่ธาตุแมกนีเซียมผสมอยู่ และการที่ความดันผิดปกตินั้นเกิดจากแมกนีเซียมในร่างกายมีปริมาณไม่พอเหมาะ เมื่อดื่มน้ำแร่ที่มีแร่ธาตุแมกนีเซียมเข้าไปในร่างกาย จึงเข้าไปช่วยชดเชยและปรับสมดุลความดันได้
- แร่ซัลเฟตในน้ำแร่นั้นจะช่วยกระตุ้นให้ตับอ่อนของเราทำงานได้ดีขึ้น ส่งผลให้ระบบทางเดินอาหารดีขึ้น และต่อเนื่องไปถึงการขับถ่าย ไม่มีพวกอาการท้องเสีย หรือท้องผูก
- ตัวช่วยบำรุงผิวพรรณดี น้ำแร่มีส่วนช่วยในการบำรุงผิวพรรณได้ ดังที่เราเห็นกันว่า มีการนำน้ำแร่มาฉีดตามผิว ใบหน้า เพื่อเพิ่มความสดชื่นในชีวิตประจำวัน ทั้งนี้ เนื่องจากในน้ำแร่นั้นมีซิลิกา ที่เป็นตัวช่วยฟื้นฟูเซลล์ผิวหนังได้ดี บางคนก็นำมาฉีดเส้นผม
- น้ำแร่ช่วยขับสารพิษ ในร่างกายที่มีสารพิษและก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ หากมีโอกาสดื่มน้ำแร่แทนน้ำดื่มทั่วไป จะช่วยปรับสมดุล จึงทำให้บรรเทาอาการโรคบางอย่างได้ ไม่ว่าจะเป็นเกี่ยวกับไขข้อ การอักเสบ รวมถึงอาการปวดเมื่อย
- ลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคหัวใจได้ สำหรับคนที่ดื่มน้ำแร่เป็นประจำทุกวัน ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจได้ เนื่องจากในน้ำแร่มีการปรับสมดุลช่วยลดระดับของคอเลสเตอรอลได้ดี ที่สำคัญมีการค้นพบว่า ในน้ำแร่มี โพแทสเซียม และ แมกนีเซียม ที่ช่วยในเรื่องการทำงานของหัวใจให้อยู่ในภาวะการทำงานที่ปกติ