เนื้อวัว

เนื้อวัว เป็นสารอาหารหลักประเภทโปรตีนที่มีประโยชน์ต่อการบำรุงรักษามวลกล้ามเนื้อ ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอและให้พลังงานแก่ร่างกาย นอกจากนี้ ยังอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิดที่อาจช่วยปรับปรุงระบบภูมิคุ้มกัน บำรุงเลือด และปรับปรุงการทำงานของร่างกายในส่วนต่าง ๆ เช่น ระบบประสาท การเต้นของหัวใจ
ประโยชน์ของเนื้อวัวที่มีต่อสุขภาพ
เนื้อวัวอุดมไปด้วยโปรตีนที่อาจช่วยพัฒนากล้ามเนื้อและรักษามวลกล้ามเนื้อในร่างกาย โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nutrients ศึกษาเกี่ยวกับโปรตีนในอาหารและมวลกล้ามเนื้อ พบว่า การบริโภคโปรตีนที่ไม่ติดมันในปริมาณที่เหมาะสม คือ 0.66 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโต พัฒนากล้ามเนื้อ เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ รักษามวลกล้ามเนื้อและส่งเสริมการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ดังนั้น การรับประทานเนื้อวัวที่อุดมไปด้วยโปรตีนจึงสามารถช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อได้ อย่างไรก็ตาม ควรเลือกรับประทานเนื้อวัวที่ไม่ติดมัน ไม่ผ่านการแปรรูป เพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับไขมันและโซเดียมส่วนเกินที่อาจเป็นสาเหตุของโรคหัวใจและหลอดเลือด
ช่วยป้องกันโรคโลหิตจาง
เนื้อวัวอุดมไปด้วยธาตุเหล็กและสารอาหารที่สำคัญ เช่น วิตามินบี 2 วิตามินบี 12 วิตามินเอ โฟเลต ทองแดง ซึ่งช่วยในการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดงและป้องกันโรคโลหิตจาง โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ใน Journal of Research in Medical Sciences ศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ของธาตุเหล็กที่มีความสำคัญต่อสุขภาพ พบว่า โรคโลหิตจางเป็นโรคที่พบบ่อยเพราะร่างกายขาดธาตุเหล็ก อาจมีสาเหตุมาจากแผลในกระเพาะอาหารหรือการรับประทานอาหารที่ธาตุเหล็กต่ำ นอกจากธาตุเหล็ก ร่างกายควรได้รับสารอาหารอื่น ๆ อย่างวิตามินบี 2 วิตามินบี 12 วิตามินเอ โฟเลต และทองแดง เพื่อช่วยในการสร้างฮีโมโกลบิน ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของเซลล์เม็ดเลือดแดงที่สามารถช่วยป้องกันภาวะโลหิตจางได้ ดังนั้น การรับประทานเนื้อวัวที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็กและสารอาหารที่สำคัญต่อการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง จึงอาจช่วยบำรุงสุขภาพเลือดและป้องกันโรคโลหิตจางได้
ช่วยปรับปรุงระบบภูมิคุ้มกัน
เนื้อวัวอุดมไปด้วยสังกะสี ที่ช่วยรักษาความสมดุลการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย และช่วยปรับปรุงระบบภูมิคุ้มกันที่อาจช่วยป้องกันโรค เช่น การติดเชื้อ โรคมะเร็ง โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Age (Dordr) ศึกษาเกี่ยวกับการบริโภคอาหารและผลของการเสริมสังกะสีต่อการทำงานของภูมิคุ้มกันในผู้สูงอายุ พบว่า แร่ธาตุสังกะสีเป็นสารอาหารที่ช่วยรักษาความสมดุลของร่างกายในหลายส่วน รวมทั้งส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน โดยผู้สูงอายุส่วนใหญ่อาจขาดสังกะสีเนื่องจากปัญหาการบดเคี้ยว กระบวนการย่อยหรือการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันแย่ลงและเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพตามมา เช่น โรคมะเร็ง การติดเชื้อ จึงควรเสริมอาหารที่อุดมไปด้วยสังกะสี เช่น เนื้อแดง ชีสแข็ง
ส่วนต่าง ๆ ของเนื้อวัว
- CHUCK สันคอ
เนื้อวัวส่วน Chuck หรือสันคอ เนื้อส่วนนี้จะมีความหนานุ่ม เหมาะกับการเอามาทำเมนู สตู หรือ อบ ก็อร่อยสุด ๆ ไปเลย
- RIB ซี่โครง
เนื้อวัวส่วน RIB หรือซี่โครง เนื้อส่วนนี้จะแบ่งออกมาได้เป็น ส่วนย่อย ๆ อีก 3 ส่วน คือ
- Short Rib เนื้อติดซี่โครง เป็นชิ้นโค้ง มักนำไปย่าง หรือ อบ รับรองว่าอร่อยอย่าบอกใคร
- Rib Eye เป็นเนื้อส่วนไม่มีกระดูกซี่โครงติดมา เป็นหนึ่งในชิ้นส่วนที่ได้รับความนิยมสูง เมนูที่นิยมคือ การเอามาทำเสต็ก เพราะเป็นส่วนที่จะมีมันแทรกเล็กน้อย ทำให้เนื้อชุ่มฉ่ะ อร่อย นุ่ม กำลังดี
- Prime Rib เป็นเนื้อส่วนที่จะคล้ายกับ Rib Eye pbo เอามาทำสเต็ก ทอด หรือ ย่าง ทำอะไรก็อร่อย
- LOIN เนื้อสัน
ส่วนต่อมา คือ LOIN หรือเนื้อสัน เนื้อส่วนนี้ ก็จะแยกออกมาเป็นส่วนย่อย ๆ ได้อีกหลายส่วนเช่นกัน คนส่วนใหญ่ ชอบเอาเนื้อส่วนนี้ มาทำสเต๊ก หรือย่าง เพราะเนื้อส่วนนี้ จะมีความนุ่มมาก ๆ ซึ่งแนะนำเลยว่าให้เอามาทำในความสุกแบบ Medium Rare บอกเลยว่าเด็ดมาก
- Short Loin / Stirp Loin
- Sirloin
- Top Sirloin กับ Bottom Sirloin
- Tenderloin
- Fillet
- T-Bone
- ROUND เนื้อสะโพก
- ROUND หรือเนื้อสะโพก เนื้อส่วนนี้เป็นส่วนที่มีไขมันน้อย นิยมนำมาบด ทำเบอร์เกอร์ หรือไส้กรอก ก็ได้
- BRISKET เนื้อติดหน้าอก
BRISKET หรือเนื้อติดหน้าอก เนื้อส่วนนี้เป็นเนื้อส่วนหน้าติดกับช่วงหน้าอกของวัวลงมาถึงท้อง นิยมนำมาทำ บาร์บีคิว
- PLATE ส่วนหน้าท้อง
PLATE ส่วนหน้าท้อง บางคนอาจจะเรียกว่า Belly เป็นเนื้อส่วนหน้าท้อง ราคาไม่แพง นิยมนำมาตุ๋นเป็นเนื้อเปื่อย ก๋วยเตี๋ยวเนื้อเปื่อย เนื้อตุ๋น เป็นต้น
- SHANK เนื้อติดกับขา
SHANK หรือเนื้อส่วนที่ติดกับขา ตั้งแต่ต้นขาลงมา บอกเลยว่าเป็นส่วนที่มีเอ็นแทรกอยู่เยอะ มีความเป็นเจลาตินสูง เอามาทำสตู จะอร่อยมาก
- FLANK เนื้อส่วนข้างล่าง
FLANK หรือเนื้อส่วนข้างล่าง เป็นเนื้อส่วนท้อง มีไขมันอยู่ค่อนข้างมาก เลยทำให้ค่อนข้างมีความเหนียว แต่ถ้านำมาหมักดี ๆ และผ่านการทุบสักนิด และตัดส่วนที่เป็นพังผืดออก แล้วเอามาทำสเต๊ก ก็อร่อยไม่น้อยหน้าเมนูอื่นเลย
สามารถติดตามข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพเพิ่มเติมได้ที่ : ramahealthy