โรคเลือด
ภาวะโลหิตจาง ร่างกายจะมีเซลล์เม็ดเลือดแดงน้อยกว่าปกติซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น โลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก โลหิตจางจากการขาดวิตามินบี 12 โลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ โลหิตจางจากโรคเรื้อรัง โลหิตจางจากภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง หรือโลหิตจางจากโรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว เป็นต้น ซึ่งบุคคลบางกลุ่มอาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะโลหิตจางสูง ได้แก่ ผู้สูงวัยที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ผู้ที่ขาดสารอาหารอย่างธาตุเหล็กหรือวิตามินบี 12 ผู้ป่วยโรคลำไส้ ผู้หญิงในวัยมีประจำเดือน ผู้หญิงตั้งครรภ์ รวมถึงผู้ป่วยโรคเรื้อรังอย่างโรคมะเร็งหรือโรคไต โรคธาลัสซีเมีย เป็นโรคทางพันธุกรรมที่เกิดความผิดปกติในการสร้างฮีโมโกลบินและการผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดง จึงมีการทำลายเซลล์เม็ดเลือดแดงมากเกินจำเป็น ทำให้ออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายไม่เพียงพอ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีกระดูกผิดรูปโดยเฉพาะกระดูกบริเวณใบหน้า ม้ามโต มีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ ปัสสาวะมีสีเข้ม รู้สึกเหนื่อยหรือเมื่อยล้าอย่างมาก และผู้ป่วยเด็กจะมีการเจริญเติบโตและพัฒนาการล่าช้า

ภาวะเม็ดเลือดแดงข้น เป็นความผิดปกติของไขกระดูกจนทำให้ร่างกายผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงจำนวนมาก เมื่อเลือดข้นขึ้นหรือมีการก่อตัวของลิ่มเลือดจะทำให้เลือดไหลเวียนได้น้อยลง ส่งผลให้หัวใจ สมอง และอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ หากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ช่วยให้เซลล์เม็ดเลือดแดงทำงานได้อย่างเต็มที่ หากขาดเอนไซม์นี้ไปจะทำให้เม็ดเลือดแดงแตก ผู้ป่วยอาจไม่แสดงอาการใด ๆ จนกว่าจะเจอปัจจัยกระตุ้น เช่น การติดเชื้อ ความเครียด อาหารและยาบางชนิด เป็นต้น ซึ่งจะทำให้มีอาการ เช่น ปัสสาวะมีสีเข้ม ม้ามโต เมื่อยล้า ผิวซีด ภาวะดีซ่าน หายใจหอบเหนื่อย หรือหัวใจเต้นเร็ว เป็นต้น
มะเร็งเม็ดเลือดขาว เกิดเซลล์มะเร็งขึ้นที่เซลล์เม็ดเลือดขาว จนทำให้เซลล์มีการแบ่งตัวในปริมาณที่ผิดปกติภายในไขกระดูก ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการ เช่น มีไข้ หนาวสั่น รู้สึกอ่อนเพลียและเมื่อยล้า มีเหงื่อออกตอนกลางคืน น้ำหนักตัวลดลง ปวดและตึงที่กระดูก ต่อมน้ำเหลือง ตับ หรือม้ามโต ติดเชื้อได้ง่าย มีจุดแดงตามผิวหนัง เกิดแผลฟกช้ำหรือมีเลือดออกง่าย เป็นต้น ซึ่งผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว ผู้ที่สูบบุหรี่ ผู้ที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรมหรือเป็นโรคเลือด รวมถึงผู้ที่เคยรักษามะเร็งด้วยยาเคมีบำบัดหรือการฉายรังสี บุคคลกลุ่มดังกล่าวอาจเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้

มะเร็งเม็ดเลือดขาวมัลติเพิลมัยอิโลมา เกิดจากพลาสมาเซลล์ซึ่งเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งกลายเป็นมะเร็ง ส่งผลให้เกิดปัญหาต่อการผลิตสารภูมิต้านทานแอนติบอดี้ที่จำเป็นต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน จึงทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย มีปัญหาเกี่ยวกับกระดูก ระบบประสาท เลือด และการทำงานของไต ซึ่งผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินหรือเป็นโรคอ้วน รวมถึงผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับพลาสมาเซลล์ชนิดอื่น ๆ อาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้สูง มะเร็งต่อมน้ำเหลือง เกิดมะเร็งขึ้นในระบบน้ำเหลือง ซึ่งประกอบด้วยน้ำเหลือง ท่อน้ำเหลือง และต่อมน้ำเหลือง ส่งผลให้เกิดความผิดปกติของเซลล์เม็ดเลือดขาว โดยมีการเพิ่มจำนวนขึ้นจนไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้ต่อมน้ำเหลืองที่คอ รักแร้ หรือขาหนีบมีอาการบวม หรืออาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น มีไข้ ไอ เมื่อยล้า เหงื่อออกมากตอนกลางคืน ปวดกระดูก ม้ามโต ปวดท้อง หรือน้ำหนักตัวลดลงโดยหาสาเหตุไม่ได้ เป็นต้น
โรคเลือดที่ส่งผลต่อเกล็ดเลือด หากมีเกล็ดเลือดน้อยเกินไปหรือเกล็ดเลือดทำงานผิดปกติ แม้อุบัติเหตุเพียงเล็กน้อยก็อาจทำให้เสียเลือดมากได้ แต่หากมีเกล็ดเลือดมากเกินไปก็อาจก่อตัวเป็นลิ่มเลือดจนเกิดการอุดตันภายในหลอดเลือด ทั้งยังเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองได้ ซึ่งโรคเลือดที่ส่งผลต่อเกล็ดเลือด ได้แก่ เกล็ดเลือดสูง เกิดขึ้นเมื่อไขกระดูกผลิตเกล็ดเลือดมากผิดปกติ โดยร่างกายคนทั่วไปจะสร้างลิ่มเลือดขึ้นเมื่อเกิดบาดแผลเพื่อทำให้เลือดหยุดไหล แต่ผู้ที่มีเกล็ดเลือดสูงตั้งแต่ 450,000 เกล็ด/ไมโครลิตรขึ้นไป ร่างกายจะสร้างลิ่มเลือดขึ้นแม้จะไม่มีบาดแผลเกิดขึ้นก็ตาม โดยเฉพาะบริเวณสมอง มือ หรือเท้า ซึ่งอาจทำให้เลือดไหลเวียนได้น้อยลงและส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะสำคัญ เช่น สมอง หัวใจ หรือไต เป็นต้น โดยผู้ป่วยเกล็ดเลือดสูงมักมีอาการวิงเวียน สายตาพร่ามัว ปวดศีรษะ มีอาการชาที่มือและเท้า เจ็บหน้าอก อ่อนแรง หรือเป็นลม เป็นต้น เกล็ดเลือดต่ำ เป็นภาวะที่มีจำนวนเกล็ดเลือดน้อยกว่า 150,000 เกล็ด/ไมโครลิตร ซึ่งอาจเป็นผลมาจากไขกระดูกผลิตเกล็ดเลือดได้ไม่เพียงพอ ร่างกายใช้หรือทำลายเกล็ดเลือดมากเกินไป เกิดการติดเชื้อ ป่วยด้วยโรคมะเร็งหรือตับแข็ง โดยจะทำให้เกล็ดเลือดถูกกักอยู่ที่ม้าม ซึ่งเป็นอวัยวะที่ขจัดเชื้อโรค สิ่งแปลกปลอม และเซลล์เม็ดเลือดแดงที่ร่างกายไม่ต้องการออกจากกระแสเลือด เมื่อมีเกล็ดเลือดต่ำ ผู้ป่วยจะมีอาการ เช่น เกิดแผลฟกช้ำได้ง่าย เลือดหยุดไหลยากหรือไหลออกมากแม้บาดเจ็บเพียงเล็กน้อย เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน ปัสสาวะหรืออุจจาระเป็นเลือด ประจำเดือนมามากกว่าปกติ เป็นต้น

การรักษาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคเลือดแต่ละชนิด รวมถึงอายุ และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งแพทย์อาจรักษาโรคเลือดด้วยวิธีต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ การใช้ยา ใช้ยาโรมิโพลสติมเพื่อกระตุ้นให้ไขกระดูกผลิตเกล็ดเลือด ใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาการติดเชื้อต่าง ๆ สำหรับโรคที่ส่งผลต่อเซลล์เม็ดเลือดขาว หรืออาจรับประทานอาหารเสริมเพื่อรักษาโรคที่ส่งผลต่อเซลล์เม็ดเลือดแดง เช่น วิตามินบี 9 วิตามินบี 12 ธาตุเหล็ก โฟเลต เป็นต้น การผ่าตัด แพทย์อาจปลูกถ่ายไขกระดูกเพื่อซ่อมแซมหรือทดแทนไขกระดูกที่ได้รับความเสียหาย หรือให้เลือดเพื่อทดแทนเซลล์เม็ดเลือดในร่างกาย ซึ่งหากเป็นการปลูกถ่ายเซลล์หรือรับเลือดจากผู้บริจาคจำเป็นต้องตรวจความเข้ากันได้ของระบบเลือดทั้ง 2 ฝ่ายก่อน เพื่อลดความเสี่ยงของอันตรายที่อาจเกิดขึ้นตามมา เมื่อพูดถึงโรคเลือด ต้องเข้าใจก่อนว่าเลือดประกอบด้วย เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด และระบบต้านการแข็งตัวของเลือด เมื่อเกิดความผิดปกติของเลือดก็อาจเป็นปัญหาในเรื่องของ โลหิตจาง ภาวะเม็ดเลือดแดงข้น เม็ดเลือดขาวต่ำ เม็ดเลือดขาวสูง เกล็ดเลือดต่ำ เกล็ดเลือดสูง ลิ่มเลือดอุดตัน และเลือดออกง่ายหยุดยาก เป็นต้น โรคเลือดชนิดโลหิตจางเป็นโรคที่พบบ่อยในคนไทย โลหิตจาง นับเป็นภาวะโรคเลือดที่พบบ่อยอันดับหนึ่งในคนไทย เกิดจากการที่ร่างกายมีปริมาณเม็ดเลือดแดงน้อยกว่าปกติ หรือน้อยกว่าที่ร่างกายต้องการใช้ออกซิเจน เพราะปกติเม็ดเลือดแดงมีหน้าที่ขนส่งออกซิเจนไปยังเซลล์และเนื้อเยื่อในแต่ละอวัยวะของร่างกาย เมื่อเกิดภาวะโลหิตจางจะเสมือนหนึ่งการได้รับออกซิเจนที่น้อยลงของอวัยวะต่างๆ ซึ่งอวัยวะที่สำคัญของร่างกาย เช่น สมองและหัวใจ จะมีความทนทานต่อภาวะดังกล่าวได้น้อย จึงมักแสดงอาการออกมาให้เห็นก่อน โดยแต่ละคนจะแสดงอาการไม่เหมือนกัน เนื่องจากความสามารถในการปรับตัวของแต่ละคนนั้นต่างกัน ปัญหาหรืออาการที่พบเมื่อเป็นโรคโลหิตจาง ปัญหาที่นำมา มักมาด้วยอาการวิงเวียน หน้ามืด เหนื่อยง่าย ใจสั่น เจ็บหน้าอก อ่อนแรง หรือมีคนทักว่าซีดหรือเหลือง (ซึ่งไม่ใช่เหลืองที่แท้จริง แต่คนทั่วไปเข้าใจว่าคือเหลือง ให้สังเกตที่เยื่อบุตาขาว จะพบว่ายังมีสีขาวปกติ) บางครั้งคนไข้จะมาจากการที่ได้รับคำปรึกษาจากแพทย์ห้องฉุกเฉินเนื่องด้วยที่มีอุบัติเหตุตามร่างกายหรือเลือดอออกใต้กระโหลกศีรษะ หรือบางครั้งมาด้วยการพบผลเลือดผิดปกติ หรือหัวใจทำงานล้มเหลว หรือจากปัจจัยเสี่ยงจากโรคประจำตัวที่มีอยู่เดิม ปัจจุบันคนไข้ที่เข้ามา มักได้รับคำปรึกษาจากการตรวจสุขภาพโดยที่ยังไม่มีอาการแสดงชัดเจนของโลหิตจาง เนื่องจากระบบการตรวจสุขภาพเข้าถึงได้มากขึ้นทำให้พบความผิดปกติของโลหิตจางก่อนที่จะมีอาการแสดงให้เห็น ซึ่งเมื่อพบแล้ว แพทย์ก็จะแนะนำให้ตรวจหาสาเหตุเสมอเนื่องจากเป็นสัญญาณความผิดปกติแรกเริ่มก่อนที่จะแสดงอาการอื่นๆ ออกมา แต่หลายๆ ท่านมักละเลยต่อคำแนะนำดังกล่าว ทำให้เกิดเป็นปัญหาในภายหลัง โลหิตจางต้องวินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริงเพื่อการรักษา โลหิตจางหรือภาวะซีด เป็นเพียงปัญหาที่นำมาพบแพทย์ ยังไม่ใช่การวินิจฉัยโรค จึงต้องได้รับการสืบค้นหาสาเหตุเสมอเพื่อรักษาให้ตรงกับสาเหตุของผู้ป่วยแต่ละราย เพราะโลหิตจางไม่เท่ากับการให้โลหิตทดแทนหรือการรับประทานยาบำรุงเลือดเสมอไป และยาบำรุงเลือดก็มีหลายแบบ บางครั้งเมื่อคนไข้รับประทานแล้วจะรู้สึกว่าอาการอ่อนเพลียนั้นดีขึ้น แต่เมื่อมาตรวจเลือดซ้ำกลับพบว่าไม่ดีขึ้น บ่อยครั้งผลเลือดกลับแย่ลงเนื่องจากรักษาไม่ตรงจุด หลายครั้งที่ผู้ป่วยอยากได้คำแนะนำโดยปราศจากการสืบค้นสาเหตุ ซึ่งย่อมไม่เหมาะสม เมื่อไหร่ต้องไปพบแพทย์ เมื่อทราบว่ามีปัญหาโลหิตจาง ควรรีบพบอายุรแพทย์โรคเลือดเพื่อสืบค้นสาเหตุเสมอ เพราะแต่ละคนมักมีสาเหตุของโลหิตจางแตกต่างกัน ประวัติโลหิตจางของบุคคลในครอบครัวกับโลหิตจางของผู้ป่วย อาจมีสาเหตุเดียวกันหรือคนละสาเหตุ หรือมีหลายสาเหตุก็ได้ ไม่สามารถตัดสินเอาเองได้ว่าโลหิตจางที่เกิดขึ้นมีสาเหตุเดียวกันกับคนในครอบครัว หลายครั้งที่พลาดการหาสาเหตุ เพราะเข้าใจผิดว่าโลหิตจางดังกล่าวได้มาจากพ่อแม่ จึงไม่รักษา ที่น่ากลัวที่สุด คือบางครั้งอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคมะเร็ง การตรวจวินิจฉัยและการรักษาโรคโลหิตจาง การสืบค้นสาเหตุ เริ่มจากการซักประวัติและตรวจร่างกายโดยละเอียด การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด การย้อมสไลด์เม็ดเลือด การตรวจหาภาวะร่วมอื่นๆ เช่น ค่าการทำงานของไต ระดับวิตามินในร่างกาย การตรวจคัดกรองธาลัสซีเมีย การตรวจระดับเอนไซม์ G-6-PD ตรวจหาภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง การตรวจอุจจาระ ตรวจปัสสาวะ ตรวจหาการติดเชื้อไวรัสที่สงสัย หรือสุดท้ายคือการเจาะไขกระดูก โดยวิธีดังกล่าวไม่ต้องงดน้ำงดอาหารก่อนมาทำการตรวจ ส่วนการรักษานั้น ขึ้นอยู่กับสาเหตุของโลหิตจางที่วินิจฉัยได้ ระยะเวลาการรักษาและพยากรณ์ของโรคก็มีรายละเอียดที่แตกต่างกันไป
ติดตามข้อมูลได้ที่ : โรคต่างๆเกี่ยวกับสุขภาพ
สามารถติดตามข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพเพิ่มเติมได้ที่ : ramahealthy