โรสแมรี่

โรสแมรี่ เป็นพืชสมุนไพรมีลักษณะเป็นพุ่มเตี้ย ออกใบเขียวตลอดทั้งปี ความโดดเด่นของพืชสมุนไพรนี้คือกลิ่นหอมและสรรพคุณในการนำมาใช้ประโยชน์ที่หลากหลาย ทั้งนำมาเป็นเครื่องเทศในการปรุงอาหาร การทำมาใช้สกัดเป็นสมุนไพรหรือการนำมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย เป็นต้น
ส่วนประกอบของต้นโรสแมรี่
ในเหล่าพืชสมุนไพรที่รู้จักกันดีในบ้านเรา โรสแมรี่มีลักษณะที่โดดเด่นกว่าพืชสมุนไพรอื่น ๆ โดยลักษณะของต้นโรสแมรี่ มีดังนี้
- ลักษณะลำต้น: ต้นโรสแมรี่เป็นสมุนไพรทรงพุ่มสูงประมาณ 1-2 เมตร บริเวณลำต้นมีขนนุ่ม ๆ สั้น ๆ สีขาวปกคลุมทั่วลำต้น
- ลักษณะใบ: ใบของโรสแมรี่มีรูปร่างคล้ายเข็ม มีความยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร กว้าง 3-5 มิลลิเมตร ใบจะเขียวตลอดทั้งปีและส่งกลิ่นหอม
- ลักษณะดอก: ดอกของโรสแมรี่สามารถพบได้หลายสี ได้แก่ สีขาว สีม่วง สีฟ้า หรือสีชมพู เป็นต้น ดอกมักจะออกเป็นช่อตามซอกใบ
ต้นโรสแมรี่ มีสายพันธุ์ใดบ้าง
เมืองไทยถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่นิยมปลูกต้นโรสแมรี่ แต่ทั้งนี้ด้วยสภาพอากาศที่ค่อนข้างร้อนอบอ้าว การจะปลูกโรสแมรี่ในเมืองไทยให้รอดนั้นจึงต้องอาศัยการทดลองปรับการเลี้ยงเพื่อให้อยู่รอดไปจนโตได้และสำหรับโรสแมรี่ที่นิยมปลูกในประเทศไทยนั้นมีอยู่ 2 สายพันธุ์ คือ
- โรสแมรี่พันธุ์เลื้อย: โรสแม่รี่สายพันธุ์นี้นิยมปลูกเพื่อนำมาประดับตกแต่งสวน แต่ก็สามารถนำมาปรุงอาหารได้ แต่กลิ่นจะไม่หอมฉุนเหมือนโรสแมรี่สายพันธุ์ทรงพุ่ม
- โรสแมรี่พันธุ์ทรงพุ่ม: สำหรับโรสแมรี่สายพันธุ์นี้นิยมนำมาประกอบอาหาร เพราะมีกลิ่นหอมร้อนแรง โดยสายพันธุ์ Spice Islands ถือเป็นสายพันธุ์ที่นิยมปลูกในประเทศไทย
ประโยชน์ของโรสแมรี่
ช่วยเสริมการทำงานของสมอง
โรสแมรี่อาจช่วยให้การทำงานของสมองในส่วนการคิดวิเคราะห์ โดยมีการศึกษาที่เชื่อว่าการสูดดมน้ำมันหอมระเหยจากโรสแมรี่ช่วยป้องกันการสลายของสารแอซิติลโคลีน (Acetylcholine) ซึ่งเป็นสารเคมีสำคัญในสมองที่ช่วยในการทำงานของระบบความคิด การจดจ่อ และความทรงจำ อีกทั้งการดื่มชาโรสแมรี่อาจช่วยปรับอารมณ์และช่วยให้ความจำดีขึ้นได้ โดยคาดว่าเป็นผลมาจากการสูดดมสารประกอบในโรสแมรี่ นอกจากนี้ การใช้น้ำมันหอมระเหยจากโรสแมรี่ผสมกับน้ำมันหอมระเหยชนิดอื่นในการบำบัดแบบอโรมาเธอราพี (Aromatherapy) อาจช่วยการทำงานของสมองในผู้สูงอายุที่มีอาการสมองเสื่อมหรือผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ได้ด้วย
คลายความเครียดและเสริมคุณภาพการนอนหลับ
โรสแมรี่อาจมีประสิทธิภาพในการช่วยคลายความเครียดและความวิตกกังวล จากงานวิจัยขนาดเล็กที่ให้คนสุขภาพดีทดลองสูดดมน้ำมันหอมระเหยจากลาเวนเดอร์ผสมกับโรสแมรี่ประมาณ 5 นาที พบว่าระดับฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ในน้ำลายลดลง เมื่อเทียบกับอีกกลุ่มที่ไม่ได้สูดน้ำมันหอมระเหย โดยระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลในร่างกายจะมีความความสัมพันธ์กับอารมณ์และประสิทธิภาพการนอนหลับ หากฮอร์โมนคอร์ติซอลมีมากไปแสดงถึงภาวะเครียด และอาจไปกดระบบภูมิคุ้มกันจนก่อให้เกิดปัญหาด้านการนอนหลับ อารมณ์ที่แปรปรวน หรือระบบในร่างกายทำงานผิดปกติได้ นอกจากนี้ มีการทดลองให้นักศึกษาในมหาวิทยาลัยรับประทานอาหารเสริมจากโรสแมรี่ วันละ 1000 มิลลิกรัม เป็นเวลา 1 เดือน พบว่าอาจช่วยลดอาการวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้า รวมถึงช่วยให้คุณภาพการนอนหลับดีขึ้นเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ใช้
ช่วยบรรเทาอาการปวดและลดการอักเสบ
การใช้น้ำมันโรสแมรี่อาจช่วยบรรเทาอาการปวดในระดับไม่รุนแรงได้ โดยมีการศึกษาพบว่าผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง(Stroke) ที่ใช้น้ำมันโรสแมรี่ผสมกับน้ำมันหอมระเหยอื่น ๆ นวดกดจุดบริเวณหัวไหล่วันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 20 นาที นาน 2 สัปดาห์ มีอาการปวดหัวไหล่ลดลง 30% ขณะที่กลุ่มที่นวดกดจุดเพียงอย่างเดียวมีอาการปวดลดลงแค่ 15%
ผลข้างเคียงจากการใช้โรสแมรี่
การดื่มชาโรสแมรี่ในปริมาณมาก ๆ และติดต่อกันเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อสุขภาพได้ เช่น เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน มีของเหลวในปอด บางครั้งยังอาจทำให้มีอาการบวมน้ำในปอด และเกิดอาการชักได้ แต่หากบริโภคในปริมาณที่เหมาะสม จะให้สรรพคุณเป็นยาที่ช่วยในเรื่องของสุขภาพและยังมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อ ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระในร่างกายได้อีกด้วย